มโนราห์เติม

มโนราห์เติม บ้านเดิมอยู่ตรัง



     บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรม เติม อ๋องเซ่ง  มโนราห์เติม บ้านเดิมอยู่ตรัง


ตรงแผ่นดินอ่อนหน้าบัว หรือที่เก็บกระดูกของยอดศิลปินภาคใต้ ณ วัดโคก สมานคุณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีคำจารึกเป็นคำกลอน คำประพันธ์ของ ก.ศรนรินทร์ หรือพระราชรัตนดิลก ขึ้นต้นบทแรกว่า


อันนายเติม อ๋องเซ่งเก่งโวหาร ปฏิภาณกลอนศัพท์ขับคำขวัญ

มโนราห์ชั้นนำคนสำคัญ พรสวรรค์ให้จึงได้เป็น


เติม อ๋องเซ่ง คือ มโนราห์เติม มโนราห์มีชื่อเสียงคนหนึ่งของภาคใต้ แม้จะล่วงลับไปแล้ว ผู้คนยังบอกเล่ากล่าวขานถึงกันไม่รู้วาย

มโนราห์เติม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ปีขาล พ.ศ. 2457 ที่ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา ปัจจุบันเป็นเขตอำภอวังวิเศษ สืบเชื้อสายมโนราห์มาตั้งแต่รุ่นปู่ถึงรุ่นพ่อ คือ มโนราห์ตั้ง มีแม่ชื่ออบ และน้องชายชื่อตุ้ง


หนุ่มเติมพี่ชายนั้น แม้จะได้หัดมโนราห์จากพ่อจนได้ออกโรงมาแล้วตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่เบื้องต้นมุ่งเอาดีทางการเรียนเสียมากกว่า จึงได้เรียนจบชั้นประถมที่บ้านเกิด ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ แล้วไปต่อที่โรงเรียนคณะราษฏร์บำรุง จังหวัดยะลา จบชั้นมัธยมปีที่ 8 จากนั้นกลับมารับราชการเป็นเสมียนที่อำเภอสิเกา เมื่ออายุได้ 18 ปี ฝ่ายหนุ่มตุ้งน้องชายเอาดีทางมโนราห์ จนได้ตั้งเป็นคณะมโนราห์ตุ้ง ประชันโรงกับคณะมโนราห์อื่น ๆ ชนะทุกครั้ง จนมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งเกิดแพ้มโนราห์ที่มีชื่อเสียงมากคณะหนึ่ง หนุ่มเติมพี่ชายซึ่งมาช่วยรำอยู่เป็นครั้งคราวถึงกับเสียใจมาก ประกาศตัวเป็นมโนราห์แสดงรวมกับน้องชาย จนชาวบ้านนิยมเรียกชื่อคณะว่า โนราตุ้ง - เติม ต่อมาหนุ่มตัดใจลาออกจากราชการมาแสดงมโนราห์เต็มตัว ได้ประชั้นโรงกับมโนราห์ที่มีชื่อเสียงเด่นดังหลายคณะ และชนะมาตลอด ได้รับรางวัลเป็นถ้วยเกียรติยศและขันน้ำพานรองมากมาย ต่อมามโนราห์ตุ้งเสียชีวิตไปก่อน


ครั้งหนึ่งจังหวัดตรังจัดให้มีการประชันโรงมโนราห์ทั่วภาคใต้ มีผู้เข้าแข่งขันถึง 50 โรง ปรากฎว่ามโนราห์เติมชนะเลิศ ได้รับเกียรติยศเป็นรางวัลและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้


ด้วยความที่เป็นผู้มีชื่อโด่งดัง คารมดี ประกอบกับเป็นคนมีนิสัยเจ้าชู้ เมื่อไปแสดงที่ใดก็มักได้ภรรยาที่นั้น จนปรากฎว่ามโนราห์เติมมีภรรยาถึง 54 คน สองคนสุดท้ายคือ หนูวิน - หนูวาด ลูกสาวมโนราห์วัน แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยประชันโรงผลัดกันแพ้ชนะหลายครั้ง เกี่ยวกับภรรยาทั้งสองนี้ มโนราห์เติมเคยฝากลีลากลอนกระทบว่าที่พ่อตามาก่อนแล้วว่า ไม่เกรงใจพ่อตาโนราวัน จะเอามันให้ฉาดทั้งวาดวิน ในที่สุดก็เป็นความจริง


หลังแต่งงานกับหนูวินแล้ว ก็รวมคณะมโนราห์เป็นโรงเดียวกัน แม้มโนราห์ตุ้งจะตายไปหลังการรวมโรงประมาณ 2 ปี แต่การแสดงก็ยังเป็นที่นิยมมากขึ้น เมื่อหนูวาดมาอยู่ด้วยและได้ออกโรงด้วยกันก็ยิ่งเด่นดังจนไม่มีใครกล้าประจัน จนได้ตระเวนแสดงทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ และเคยไปแสดงที่กรุงเทพฯ และประเทศมาเลเซียอีกหลายครั้ง ในขณะที่มโนราห์เติมกำลังมีชื่อเสียงนั้น เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของจังหวัดตรัง แต่ปรากฎว่าแพ้กลยุทธ์การหาเสียงของผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่บอกกับประชาชนว่า ถ้าเลือกโนราเติมไปเป็นผู้แทนเสียแล้ว ใครจะเล่นโนราให้ดู


ในยุคที่มโนราห์เติมกำลังเฟื่องฟูนั้น เทคโนโลยีบันเทิงก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย มโนราห์เติมจึงต้องคิดดัดแปลงพัฒนารูปแบบ การเล่นขึ้นใหม่ เพื่อตรึงความนิยมของคนดูเอาไว้ โดยหันมาเน้นด้านบทกลอนที่เป็นกลอนสดมากกว่าการร่ายรำแบบโบราณ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะมีพรสวรรค์ด้านนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว ด้านการแต่งกายก็เปลี่ยนแปลงจากเครื่องลูกปัดมาใช้แบบสากลแทน และดัดแปลงการเล่นเรื่องเป็นแบบนวนิยายสมัยใหม่


การดัดแปลงรูปแบบการเล่นดังกล่าว ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ทำลายเอกลักษณ์ดั้งเดิมของมโนราห์ ซึ่งมโนราห์เติมได้อธิบายเหตุผลและความจำเป็นไว้ว่า เป็นเพราะอิทธิพลของภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ ค่านิยมของคนดู หนังสือนวนิยาย ความเบื่อหน่ายอุปกรณ์สมัยใหม่หาง่าย และผู้รำแสดงได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นจึงสอดแทรกความคิด ความรู้สึกของตนเองเข้าไปในงานศิลปะ และสรุปเป็นบทกลอนไว้ด้วยว่า "ทั้งนี้เพราะอาชีพบีบบังคับ จึงต้องปรับปรุงแปลงตามแบบใหม่ เอาของเก่าเข้าแทรกซอยทยอยไป เพื่อบำรุงชาวไทยใจคนดู"


มโนราห์เติมนับเป็นผู้มีอัจริยะอย่างยิ่งในการขับกลอนสด ยิ่งได้ตอบโต้กับในเชิงกลอนกับพรานแมงคู่ใจจำอวดประจำโรงแล้ว บรรดาผู้ชมย่อมยึดที่นั่งหน้าโรงไม่ยอมลุกไปไหนแน่นอน


งานเฉลิมพระชนมพรรษา และงานฉลองรัฐธรรมนูญของตรัง ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า งานหลองรัฐ คือ สนามประชันบรรดาหนังตะลุง มโนราห์ และการละเล่นต่าง ๆ ในครั้งนั้น มโนราห์ที่มีชื่อเสียง โด่งดังของเมืองตรัง ที่ไม่มีใครกล้ามาประชัน ได้แก่ มโนราห์เฟื่อง เมื่อมีผู้หาญกล้า คือ มโนราห์เติม ก็กลายเป็นการต่อกรระหว่างเสือเฒ่ากับสิงห์หนุ่ม แน่นอน ที่ว่าลีลาของทั้งสองย่อมสูสีกัน จนยากที่จะตัดสินแพ้ชนะ สุดท้ายจึงต้องต่อกลอนสดกันดังที่มีผู้จำต่อ ๆ กันมาว่า


ถ้าแพ้ลูกเติมงานเหลิมไม่รำ คือ บทประกาศกร้าวมาจากทางโรงของมโนราห์เฟื่อง พร้อม ๆ กับเสียงโหม่งเสียงกลอง และเสียงเชีรย์ของบรรดาผู้ชม


ถ้าแพ้ลูกเฟื่องถอดเครื่องจำนำ คือ บทตอบกลับมาทันทีจากทางโรงมโนราห์เติม พร้อมกับเสียงเชียร์ที่อื้ออึงยิ่งกว่าเก่า


หลังจากการประชันกลอนสดครั้งนี้ก็ไม่มีใครฟังกลอนมโนราห์เฟื่องในงานฉลองรัฐ ฯ อีกเลย ส่วนสิงห์หนุ่มก็ขยายวงกว้างออกไปทั่วภาคใต้ ข้ามแดนไปถึงมาเลเซีย บางคราวก็ขึ้นไปถึงกรุงเทพฯ


มโนราห์เติม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ มกราคม พ.ศ. 2514 อายุได้ 57 ปี จากนั้นหนูวิน- หนูวาด ภรรยาก็ยังแสดงมโนราห์ในชื่อ คณะมโนราห์เติมต่อมาอีกหลายปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น